FIRE Movement คือ อะไร ในยุคปัจจุบันการวางแผนเกษียณเป็นเรื่องสำคัญที่ควรมีกำหนดการที่ชัดเจน เพื่อให้คุณมีชีวิตที่มั่นคงและมีความสุขหลังเกษียณได้อย่างไม่ต้องกังวล ซึ่งไม่นานมานี้ก็มีกระแสแนวคิดใหม่ที่เรียกว่า “FIRE” เป็นการวางแผนเกษียณโดยมุ่งเน้นการประหยัดเงินแบบสุดโต่ง การหารายได้เพิ่มและการลงทุนเพื่อให้สามารถเกษียณได้เร็วขึ้นกว่าเดิม อย่างเช่น การหาเงินเพื่อเกษียณในวัย 40 ปีให้ได้นั่นเอง
FIRE Movement คือ อะไร
FIRE ย่อมาจาก “Financial Independence Retire Early” หมายถึง การมีอิสรภาพทางการเงินในวัยก่อนเกษียณ ด้วยวิธีนี้คุณจะสามารถเก็บเงินเพื่อเกษียณตัวเองได้เร็วขึ้น ได้ใช้ชีวิตที่เรียบง่ายสมใจอยาก โดยไม่ต้องพึ่งพารายได้จากบริษัทหรืองานอื่นๆ เพื่อการยังชีพ หลังจากที่ลาออกจากงานหรือเกษียณไปแล้ว
การวางแผนเกษียณแบบ FIRE นั้นมีขั้นตอนอย่างชัดเจน โดยมีการกำหนดเป้าหมายเกี่ยวกับรายได้ประจำเดือนที่ต้องการหลังเกษียณ และระยะเวลาที่ต้องการใช้เวลาเก็บเงิน โดยส่วนใหญ่จะมีแผนว่าจะลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ อย่างเช่น หุ้น พันธบัตร อสังหาริมทรัพย์ หรือการซื้อประกันออมทรัพย์ เพื่อสร้างรายได้สูงสุดหลังเกษียณ
หลักสำคัญ
- การมีอิสรภาพทางการเงินในวัยก่อนเกษียณ เป็นแนวคิดทางการเงินที่ใช้หลักความประหยัด การอดออมแบบสุดโต่ง และการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
- ด้วยการเก็บออม 70% ของรายได้ทั้งปี ผู้ใช้แนวคิด FIRE มีเป้าหมายที่จะเกษียณก่อนกำหนดและใช้ชีวิตด้วยการถอนเงินจำนวนเล็กน้อยจากเงินสะสมของพวกเขา
- โดยส่วนใหญ่แล้ว คนที่ทำตามแนวคิด FIRE จะถอนเงิน 3% – 4% ของเงินเก็บทั้งปีมาใช้จ่ายในการใช้ชีวิตในช่วงเกษียณ
- การวางแผนอย่างละเอียด วินัยทางการเงิน และการลงทุนอย่างชาญฉลาดเป็นกุญแจสำคัญในการทำให้ “การมีอิสรภาพทางการเงินในวัยก่อนเกษียณ” หรือ “FIRE” ประสบความสำเร็จ
จุดประสงค์ของการเกษียณแบบ FIRE
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนียล (คนในวัย 30 – 40 ปี) ได้ยอมรับแนวคิดของการเตรียมการเกษียณที่เร็วมากขึ้น (FIRE Retirement) โดยการมีไลฟ์สไตล์แบบออมเงินอย่างสุดโต่ง ใช้เวลาในการทำงานอย่างหนักหลายปี ออมเงินให้ได้สูงสุดถึง 70% ของรายได้ทั้งปี และเมื่อเงินออมของพวกเขาสะสมได้ถึงประมาณ 30 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อปี พวกเขาก็สามารถลาออกจากงานประจำหรือเลิกทำงานทั้งหมดได้
ตัวอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายต่อปีอยู่ที่ 360,000 บาท x 30 จะเท่ากับ 10,800,000 บาท ถ้าเก็บเงินได้จำนวนเท่านี้คุณก็ถึงเป้าหมายแล้ว
ในช่วงเกษียณ ผู้ใช้แนวคิด FIRE จะถอนเงินออกจากเงินออม 3% – 4% ต่อปี ออกมาใช้ ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินออมและไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ซึ่งวิธีการนี้ต้องมีการควบคุมการใช้จ่ายและการจัดสรรการลงทุนอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีรายได้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในชีวิตหลังเกษียณตอนอายุน้อยได้
FIRE มีแบบไหนบ้าง
นอกจากนี้ยังมี FIRE ในอีกหลากหลายรูปแบบที่เป็นแนวทางให้คนที่อยากใช้ชีวิตแบบ FIRE ได้ยืดหยุ่นตามไลฟ์สไตล์ของตัวเองได้ด้วย
Lean FIRE (เกษียณแบบสมถะ)
แนวทางนี้เหมาะกับการใช้ชีวิตแบบ Minimalist หรือแบบสมถะ เรียบง่าย และต้องใช้การอดออมแบบสุดโต่ง ในชีวิตมีแต่ของที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น โดยเริ่มต้นจากการตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออก และเก็บออมเงิน 70%-80% ของรายได้ทั้งปี จากนั้นก็นำเงินไปลงทุนอย่างระมัดระวัง ใช้พลังของดอกเบี้ยทบต้น เพื่อให้เงินกองนี้งอกเงย เมื่อเงินกองนี้เติบโตจนถึงเป้าหมายแล้ว Lean FIRE หรือ เกษียณแบบสมถะ ก็ยังคงใช้ชีวิตแบบประหยัดตามเดิม ลองนึกภาพตามง่ายๆ ว่า ถ้าคุณปรับลดรายจ่ายลงเดือนละ 3,000 บาท คุณก็จะมีเงินออมเพิ่มอีก 1,080,000 บาท เพื่อใส่ลงไปในกองทุนเงินออมของคุณเลยทีเดียว (3,000×12 = 36,000 | 36,000×30 = 1,080,000)
การใช้ชีวิตแบบ เกษียณแบบสมถะ อาจจะยากเกินไปสำหรับคนที่มีครอบครัวต้องดูแล มีปัญหาสุขภาพ หรือมีข้อจำกัดทางด้านการเงิน คุณคงไม่สามารถลดค่าใช้จ่ายลง 30% ได้ แต่คุณก็ยังสามารถสร้างกองทุนเงินออมของตัวเองได้โดยเก็บเงินต่อเดือน 35% – 50%
Fat FIRE (เกษียณแบบอู้ฟู่)
สำหรับคนที่อยากจะใช้ชีวิตตามวิถีเดิม มีไลฟ์สไตล์ตามที่อยากได้ และไม่อยากจะลดคุณภาพชีวิตลง ซึ่งแนวทางนี้ก็ต้องแลกมาด้วยการมีรายรับต่อเดือนที่สูง ต้องใช้วิธีการเก็บเงินและแผนการลงทุนที่หนักหน่วงกว่าเดิมเพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามเป้า
ตามแนวทางนี้คุณก็ยังคงต้องระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย ไม่สนุกกับชีวิตจนเกินไป อย่างเช่นว่า เอาเงินไปซื้อรถสปอร์ต หรือการไปเที่ยวตามใจชอบ แต่มันหมายถึงการใช้เงินไปกับสิ่งจำเป็นจริงๆ ที่จะไม่กลายเป็นของไร้ค่าในอนาคต อย่างไรก็ดี การใช้ชีวิตแบบไม่ประหยัดก็ต้องใช้เงินมากเช่นกัน นั่นหมายความว่า คุณจะต้องมีกองทุนเงินออมที่ใหญ่ขึ้นเพื่อที่จะเกษียณตัวเองแบบ FIRE
Barista FIRE (เกษียณแบบพาร์ทไทม์)
แนวทางนี้เหมาะสำหรับคนที่อยากอยู่ตรงกลางระหว่างสองแนวทางด้านบน โดยที่พวกเขาสามารถลาออกจากงานประจำได้ แล้วก็ไปใช้เงินจากการทำงานพาร์ทไทม์และเงินออมที่เก็บไว้ เพื่อให้ใช้ชีวิตได้ยืดหยุ่นกว่าแบบ Lean FIRE
จุดประสงค์ที่แท้จริงของ Barista FIRE นั้นคือ การมีอิสรภาพทางการเงิน โดยมีส่วนของเงินออมเป็นฐานที่มั่น และมีรายได้จากการทำงานไม่ประจำที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายบางส่วน เช่น ค่าประกันสุขภาพ เป็นต้น บางคนนั้นมองว่าตัวเองสนุกกับการทำงาน อยากมีเพื่อน มีสังคมบ้างจึงเลือกทำตามแนวทางนี้กัน ในส่วนของตัวย่อ “FI” (Financial Independence) การมีอิสรภาพทางการเงิน ซึ่งในแง่นี้ หมายถึง การที่พวกเขามีอิสรภาพทางการเงินมากเพียงพอที่จะเลือกไม่ทำงานที่พวกเขาไม่ชอบได้
ตามแนวทางนี้ คุณก็ยังต้องออมเงินให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในอีก 25-30 ปีข้างหน้า แค่เพราะว่าคุณมีแผนที่จะทำงาน ไม่ได้แปลว่าคุณจะหางานทำได้ อย่างไรก็ดี แนวทางนี้ช่วยให้คุณมีอิสระในการเลือกงานที่คุณอยากทำ ช่วยขยายกองทุนเงินออม และยังใช้จ่ายเงินได้อย่างสบายๆ เพราะคุณยังมีรายได้เข้ากระเป๋า
“หัวใจสำคัญของแนวคิด FIRE คือ เราควรคิดให้ได้ว่า ทุกๆ การใช้จ่ายของเรานั้น แลกมาด้วยจำนวนชั่วโมงการทำงานอันเหน็ดเหนื่อย”
ขั้นตอนการวางแผนเกษียณแบบ FIRE
การวางแผนเกษียณแบบ FIRE มีหลักพื้นฐานสามประการที่สำคัญ ได้แก่ การลดค่าใช้จ่ายลง การเพิ่มรายได้ และการลงทุนอย่างชาญฉลาด ตามหลักทั่วไปแล้วก็คือ การใช้จ่ายน้อยกว่าที่หาได้และมีเงินเหลือเก็บ เพียงแค่คุณเพิ่มรายรับและลดรายจ่ายไปพร้อมๆ กัน คุณก็จะมีเงินสำหรับใส่ลงไปในกองทุนเงินออมของคุณแล้ว
1. ลดรายจ่าย
หลักการทั่วๆ ไปของ FIRE ก็คือ การใช้จ่ายอย่างระมัดระวังและมีเหตุผล คือ หัวใจสำคัญของแผนการนี้ การเน้นไปที่การลดรายจ่ายขนาดใหญ่ดีกว่าการลดรายจ่ายยิบย่อยในแต่ละวัน และให้ใส่ใจกับทุกๆ การใช้จ่ายของคุณว่ามันจำเป็นหรือไม่ ในอีกแง่หนึ่งก็คือ ถ้าเป้าหมายคุณ คือ การมีอิสรภาพทางการเงินเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ก็จงอย่าใช้จ่ายกับสิ่งที่ไม่จำเป็นนั่นเอง
วิธีการลดรายจ่ายในการใช้ชีวิต และไปถึงเป้าหมายทางการเงินได้
- ลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ภายในบ้าน รวมไปถึงภาระค่าเช่าบ้าน หรือภาระเงินกู้ด้วย
- ซื้อรถยนต์มือสองเท่านั้น
- ใช้แต้มบัตรต่างๆ ในการซื้อของเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่น บัตรเครดิต บัตรสะสมแต้ม เป็นต้น
- ลดภาระภาษีให้มากที่สุด โดยการซื้อประกันลดหย่อนภาษี ซื้อกองทุนต่างๆ และอื่นๆ
- ลดค่าใช้จ่ายในเรื่องของสมาร์ทโฟน ค่าอินเตอร์เน็ท ค่าบริการสตรีมมิ่งรายเดือน
- ดูแลเรื่องสุขภาพให้ดี หันมาทานอาหารอาหารวีแกนบ้าง เพราะค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพก็ถือเป็นเรื่องใหญ่เช่นกัน
2. เพิ่มรายได้
ในอีกด้านหนึ่งการเพิ่มรายรับก็ช่วยโอกาสในการเก็บเงินที่เพิ่มขึ้นด้วย ในขณะที่คุณอยู่ในช่วงการเตรียมตัว FIRE ลองหาวิธีในการเพิ่มรายได้และหาช่องทางทำเงินต่างๆ ให้มากที่สุด โดยไม่ต้องสนใจว่าคุณจะหาเงินได้มากเท่าไหร่แล้วก็ตาม ซึ่งนั่นอาจรวมถึง การได้ขึ้นเงินเดือน การหาอาชีพเสริมเพิ่ม และพยายามสร้าง Passive Income (รายได้แบบไม่ต้องออกแรงทำงาน) เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ได้เพิ่มให้เอาไปลงในกองทุนเงินออมเพื่อการเกษียณของคุณ (หลังจากที่เอาไปทำการลดหย่อนภาษีแล้ว)
รายได้แบบ Passive
รายได้แบบไม่ต้องลงแรงทำงาน อย่างเช่น กำไรจากการลงทุน ค่าเช่าบ้าน ค่าลิขสิทธิ์ ค่าโฆษณาจากเว็บไซต์ เป็นต้น การสร้างรายได้แบบ Passive ไม่ได้เกิดขึ้นในเร็ววัน แต่มันใช้ทั้งเวลาและความพยายามอย่างมากเพื่อที่ว่าในวันข้างหน้าคุณจะได้ไม่ต้องเหนื่อยอีกต่อไป
3. การลงทุนอย่างชาญฉลาด
คนที่เพิ่งเริ่มต้นในแนวทางของ FIRE จะสร้างเงินจากการลงทุนในกองทุนอย่าง ETF และกองทุนรวม การลงทุนด้วยวิธีนี้จะให้ทางเลือกมากมายในการกระจายเงินลงทุนและได้ผลตอบแทนที่ดีโดยที่ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม นอกจากนี้แล้ว การลงทุนมีความเสี่ยง ดังนั้นเราจึงควรเก็บเงินไว้ให้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย 2 ปี ในแบบที่ปลอดภัย 100% อย่างเช่น ฝากเงินไว้กับสถาบันการเงินที่รัฐบาลให้การรองรับ ส่วนที่เหลือก็เก็บเอาไว้ในกองทุนต่างๆ ที่สามารถเติบโตและรับความเสี่ยงได้
FIRE Movement ดีจริงไหม
หลักคิดสำคัญของการเกษียณแบบ FIRE ก็คือ ให้ขยายช่องว่างระหว่างรายรับกับรายจ่ายให้ได้มากที่สุด เพื่อให้มีเงินเก็บออม ยิ่งช่องนั้นกว้างเท่าไหร่ คุณก็จะไปถึงจุดที่เกษียณได้เร็วขึ้นเท่านั้น ยิ่งได้เริ่มต้นเร็วก็ยิ่งได้เปรียบ ถ้าคุณเริ่มต้นในตอนที่อายุยังน้อยพลังของดอกเบี้ยทบต้นก็จะยิ่งเติบโตได้เร็วขึ้น
เป็นเรื่องที่ดีมากๆ ถ้าเราได้เริ่มต้นวางแผนทางด้านการเงินในช่วงที่อายุยังน้อย หรือในวัยเริ่มทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการเก็บออมเงิน ใช้จ่ายกับสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตจริงๆ การซื้อประกันสุขภาพ ประกันออมเงินเพื่อการลดหย่อนภาษี เพื่อให้เรามีหลักประกันที่มั่นคงในชีวิต การนำเงินไปลงทุนให้งอกเงย เพื่อจะได้ไม่ต้องกังวลกับเรื่องเศรษฐกิจ และการหารายได้ต่างๆ ในวันที่เราแก่ตัวลงจนทำงานไม่ไหว นอกจากนี้เรายังสามารถเลือกรูปแบบการใช้ชีวิตของเราได้อีกด้วย ว่าจะทำงานหรือไม่ ที่ไหน อย่างไรก็ได้
ส่วนในเรื่องของการลงทุนเองอันที่จริงแล้วก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้การศึกษา ทำความเข้าใจและทดลองด้วยตัวเองจนกว่าจะเจอทางที่ถูกต้อง ซึ่งการลงทุนนั้นมีความเสี่ยง ถ้าลงทุนไม่ดีก็อาจทำให้เงินที่สะสมไว้หายไปเลยก็เป็นได้
จากใจคนที่เคยเก็บเงินหนักมาก ใช้จ่ายน้อยมากๆ เพื่อให้เหลือเงินเก็บเยอะขึ้นในแต่ละเดือน มันไม่ได้สนุกเอาซะเลย ทั้งเครียดและเสียสุขภาพจิตมากๆ ทางที่ดีกว่าคือการหาตรงกลางระหว่างการเก็บเงิน กับหางานที่ชอบไปด้วย พร้อมๆ กับการหาวิธีสร้างรายได้เสริม และศึกษาเรื่องการวางแผนการเงิน อย่างเช่น การลงทุนต่างๆ การซื้อประกันสุขภาพ ประกันลดหย่อนภาษี เป็นต้น เพื่อให้เรามีสุขภาพการเงินที่ดี และเป็นไปตามจังหวะชีวิตของเรา
อ้างอิง
![ปลา ณภัทร](https://wealthwithnapat.com/wp-content/uploads/2024/03/Napat-1.jpg)
ณภัทร คล่องผจญกิจ (คุณปลา)
ที่ปรึกษาทางด้านการเงิน | นักออกแบบ | Entrepreneur
ที่ปรึกษาทางด้านการเงินผู้มีความเชี่ยวชาญในการวางแผนการเงินแบบครบทุกมิติ โดยใช้ประกันชีวิตทั้งแบบสามัญและประกันชีวิตควบการลงทุนมาเป็นเครื่องมือช่วยพาทุกท่านไปสู่เป้าหมายทางการเงินอย่างดีที่สุด